โรคเบาหวาน (Diabetes) สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ น้ำตาลที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะถูกนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานโดยการควบคุมของอินซูลิน ในเมื่ออินซูลินมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้ จึงมีน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมาก ไตจึงขับของเสียออกมาทางปัสสาวะ อันเป็นเหตุให้ปัสสาวะหวานนั้นเอง
มาทำความรู้จักกับอินซูลิน ตัวการสำคัญของเบาหวาน
อินซูลิน (Insulin)ได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความอุดมสมบูรณ์ (hormone of abundance) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากเซลล์ เบต้าเซลล์ ในตับอ่อน เป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้มีการสะสมน้ำตาล (กลูโคส) กรดไขมัน และกรดอะมิโนไว้ในเซลล์ต่าง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้อินซูลินผิดปกติ บ้าง
- พันธุกรรม เราพบว่าโรคเบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรม คือโรคที่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นได้ กลุ่มคนเหล่านี้จึงมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนปกติถึง 50 % เลยนะคะ โรคทางพันธุกรรม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการไม่ให้เกิดขึ้นมากเท่านั้นเอง ดังนั้นการป้องกันโรคทางพันธุกรรมที่ดีที่สุด คือการตรวจร่างกายคัดกรองสภาพทางพันธุกรรมเพื่อทราบระดับเสี่ยง
- ความอ้วน จากการศึกษาพบว่าเซลล์ไขมันในคนอ้วนมีการหลั่งฮอร์โมน อะดิโปเนคติน (Adiponectin) ซึ่งมีผลต่อการดื้อของอินซูลิน ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีระดับของอะดิโปเนคตินในเลือดต่ำกว่าคนปกติที่มีน้ำหนักตัวเท่ากัน นอกจากนี้ในเซลล์ไขมันยังมีการหลั่งฮอร์โมนตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานอีกหลายชนิด คนอ้วนจึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้มากกว่าคนปกติถึง 3 เท่าเลยคะ
- การรับประทานอาหาร มีกการศึกษาพบว่าทารกที่ทานนมแม่เพียง 2-4 เดือน และได้รับนมวัวเป็นอาหารเสริมในช่วงนั้น มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ การขาดวิตามินดีในวัยเด็ก การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือหวานจัด เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เร่างกายเกิดการทำลายเบตาเซลล์ ความเครียด
โดยทั่วไปโรคเบาหวาน สามารถแบ่งได้ 4 ชนิด คือ
- โรคเบาหวานชนิดที่1 หรือโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (IDDM) เป็นเบาหวานที่เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเบตาเซลล์ (Beta cells) ของตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ในปริมาณที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดนี้ จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดนี้มักมีรูปร่างผอมซูบ ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อลีบฝ่อ
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) เป็นชนิดที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ ตับอ่อนยังคงสร้างอินซูลินได้แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) โรคเบาหวานชนิดนี้มักไม่แสดงอาการ แต่ถ้าแสดงอาการมักมีโรคแทรกซ้อนแล้ว การตรวจร่างกายสำหรับผู้ที่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค โรคเบาหวานสามารถรักษาให้หายได้โดยการควบคุมอาหาร รับประทานยา หรือ ฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- โรคเบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักมีดัชนีมวลกายมากว่า 30 มีประวัติเครือญาติเป็นโรคเบาหวาน และให้กำเนิดบุตรมีน้ำหนักมากกว่า 4.5 กิโลกรัม การเกิดภาวะโรคเบาหวานขณะตั้งครรถ์จะส่งผล ให้ทารกตัวโต คลอดก่อนกำหนด และอาจพิการได้ ถึงแม้ว่าหลังคลอดระดับน้ำตาลจะกลับปกติ แต่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดเบาหวานในอนาคต
- โรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคตับอ่อน โรคทางพันธุกรรม จากการใช้ยา เช่น สเตอรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ หรือ เกิดจากการติดเชื้อ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีมากมาย บางอย่างยากต่อการควบคุมได้ การรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยากทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ หรือผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวาน เป็นการป้องกันการเกิดโรคและถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันที ไม่ลุกลามจนเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้ยากต่อการรักษานะคะ